สถานการณ์การลักลอบปลูกฝิ่นของประเทศไทยในอดีตมีปริมาณมาก สามารถนำไปแปรสภาพเป็นยาเสพติดที่ร้ายแรง เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน และเกี่ยวเนื่องกับปัญหาคอมมิวนิสต์ ส่งผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลในขณะนั้นจึงกำหนดนโยบายหยุดยั้งการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่นของชาวเขาให้หมดสิ้นไป สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงตั้งกองควบคุมพืชเสพติดและกลุ่มงานสำรวจรวมทั้งกลุ่มงานวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดำเนินภารกิจในการสำรวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นของประเทศไทย โดยสามารถสำรวจตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมแบบไม่สุ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา และใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการปลูกพืชทดแทนและการตัดทำลายเพื่อระงับปัญหาการปลูกฝิ่น ทั้งนี้ การสำรวจฝิ่นได้พัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องจนสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพในการปลูกฝิ่นและทันต่อสถานการณ์ในแต่ละห้วงฤดูกาลปลูก ซึ่งต่อมาผลการสำรวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นของประเทศไทยต้องรายงานต่อสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ( United Nation Office on Drugs and Crime : UNODC ) เป็นประจำทุกปี โดยได้รับการยอมรับและเชื่อถือ
ภายหลังการประสบความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่นจากนับแสนไร่เหลือไม่ถึง 5,000 ไร่ ประเทศไทยได้รับการถอนออกจากรายชื่อประเทศผู้ผลิตยาเสพติดของโลก สำนักงาน ป.ป.ส. จึงปรับลดงานควบคุมพืชเสพติดด้านการปลูกพืชทดแทน คงเหลือแต่มาตรการด้านสำรวจและตัดทำลายพืชเสพติด โดยรวมกลุ่มงานสำรวจและกลุ่มงานวิเคราะห์ข้อมูลของกองควบคุมพืชเสพติดเป็นส่วนสำรวจพืชเสพติดภายใต้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ
ต่อมา สำนักงาน ป.ป.ส. มีการปรับปรุงโครงสร้างโดยศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือแยกออกเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 และ ภาค 6 โดยส่วนสำรวจพืชเสพติดแยกออกมาเป็นสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สังกัด สำนักงาน ป.ป.ส. ส่วนกลาง โดยรับผิดชอบภารกิจเดิมคือการสำรวจและตัดทำลายพืชเสพติดของประเทศไทย และขยายงานในด้านวิชาการพืชเสพติดและการพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
ในห้วงปัจจุบัน นโยบายของโลกและประเทศปรับเปลี่ยนจากการมุ่งทำลาย/กำจัดยาเสพติดและพืชเสพติดแต่เพียงอย่างเดียวสู่มิติใหม่ในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และพัฒนาทางเลือกโดยเฉพาะพืชเสพติด ซึ่งต้องมีการควบคุมการใช้ในทางที่ถูกและเกิดประโยชน์ ไม่ให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือเกิดผลกระทบในเชิงลบ อีกทั้ง พืชเสพติดบางชนิด คือ กระท่อม และกัญชา/กัญชง ถูกถอนออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติด โดยต้องเฝ้าระวังและกำกับควบคุม สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติดจึงมีภารกิจเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด
พัฒนาการของหน่วยงาน
- กลุ่มงานสำรวจและกลุ่มงานวิเคราะห์ข้อมูล กองควบคุมพืชเสพติด
- ส่วนสำรวจพืชเสพติด ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ
- สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด
- สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด
สังกัด
สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด เป็นหน่วยงานส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค
สังกัด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม
รายนามผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ
1. นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์
2. นางทิพาพร ทัศนภักดิ์
3. นายวาทิน ดำรงเลาหพันธ์
4. นายวุฒิพงษ์ เหล่าจุมพล
5. นายวีระพล ใจจันทร์