สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด (สพส.) สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการประสานงาน เร่งรัด ส่งเสริมและสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชกระท่อม ครั้งที่ 1/2566

เมื่อวันที่ : 6 ก.ค. 2023 00:00
หน่วยงาน : สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด
14 ครั้ง
สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด (สพส.) สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการประสานงาน เร่งรัด ส่งเสริมและสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชกระท่อม ครั้งที่ 1/2566

354618688_282884174123149_8380825326081504713_n.jpg
 

352964682_282885140789719_8346149021950022880_n.jpg    354596918_282885187456381_2342686575552043125_n.jpg   355308413_282885034123063_2250517393128171308_n.jpg
 

สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด (สพส.) สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการประสานงาน เร่งรัด ส่งเสริมและสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชกระท่อม ครั้งที่ 1/2566

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 เมื่อเวลา 09.30 น. นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงาน เร่งรัด ส่งเสริมและสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชกระท่อม ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 โดยที่ประชุมมีมติรับทราบ จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่

เรื่องที่ 1 ความคืบหน้าโครงการทดสอบความเป็นพิษแบบเรื้อรังของสารสกัดใบกระท่อมด้วยน้ำในหนูแรท นำเสนอโดย ผศ.ดร.พรนรินทร์ เทพาวราพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งผลจากการทดสอบในระยะที่ 1 เบื้องต้นพบว่า หนูแรทที่ได้รับวัสดุทดสอบสารสกัดใบกระท่อมด้วยน้ำติดต่อกันทุกวันเป็น เวลา 90 วัน ไม่ได้รับผลกระทบจากการให้สารสกัดซ้ำ ๆ กันทุกวัน โดยไม่พบอาการทางคลินิกที่ผิดปกติไป หรือไม่พบการตายภายหลังจากการได้รับสารสกัด ทั้งนี้ยังอยู่ขั้นตอนการป้อนสารสกัดจนครบ 180 วัน และจะมีการประเมินผลร่วมกันของการผ่าซาก ผลการวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยา ค่าชีวเคมีในเลือด ผลการวิเคราะห์ค่าปัสสาวะและผลการตรวจทางจุลพยาธิวิทยา

ทั้งนี้โครงการวิจัยดังกล่าว มุ่งหวังว่าเมื่อเสร็จสิ้นการวิจัย ข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้เป็นข้อมูลมาตรฐานกลางของประเทศที่มีค่าการกำหนดสารไมทราไจนีนในผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมที่สูงกว่าปัจจุบัน (ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 0.2 มิลลิกรัมต่อหน่วย) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เชื่อมโยงกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชกระท่อมในอนาคตอันใกล้

เรื่องที่ 2 ความคืบหน้าโครงการวิจัยพัฒนาพืชกระท่อมเพื่อใช้ในทางการแพทย์ (บำบัดรักษาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด) นำเสนอโดย ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งผลจากวิจัยในระยะที่ 2 พบว่า ยาที่พัฒนาจากพืชกระท่อมสามารถใช้บำบัดรักษาได้ในสัตว์ทดลองที่ถูกชักนำให้ติดสารเสพติด ประเภทเมทแอมเฟตามีน ซึ่งสามารถลดความอยากยาและลดอาการซึมเศร้าได้ เนื่องจากการรักษาผู้เสพติดเมทแอมเฟตามีนในปัจจุบันนั้นต้องให้ยา 2 ตัว คือ ยาลดความต้องการยา และยาต้านซึมเศร้า แต่ยาที่พัฒนาจากพืชกระท่อมสามารถลดได้ทั้ง 2 กรณี โดยระยะที่ 3 โครงการจะดำเนินการศึกษาวิจัยในมนุษย์ ภายใต้ความร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตยาเพื่อการวิจัย และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

ทั้งนี้โครงการวิจัยดังกล่าวมุ่งหวังที่จะนำพืชกระท่อมพัฒนาเป็นยารักษาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด เพื่อขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ และเกิดอุตสาหกรรมทางยาอย่างครบวงจรโดยมีการเชื่อมโยงตั้งแต่ต้น กลางน้ำ และปลายน้ำ นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เรื่องที่ 3 ผลการประชุมหารือเพื่อพิจารณากำหนดพิกัดอัตราศุลกากรของใบกระท่อม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 นำเสนอโดย กองกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดพิกัดศุลกากรของใบกระท่อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เรื่องที่ 4 ผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาและแผนการดำเนินงานระยะถัดไปเกี่ยวกับพืชกระท่อม นำเสนอโดย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มวิจัย พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตใบกระท่อมคุณภาพ (ต้นน้ำ) จำนวน 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา

กลุ่มที่ 2 กลุ่มวิจัย พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการแปรรูปใบกระท่อมขั้นต้น (กลางน้ำ) จำนวน 1 หน่วยงาน คือ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร

กลุ่มที่ 3 กลุ่มวิจัย พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมและการตลาด (ปลายน้ำ) จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันอาหาร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมการค้าภายใน

กลุ่มที่ 4 กลุ่มวิจัย พัฒนา และกำกับควบคุมมาตรฐานสินค้า จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเศรษฐกิจ ดัง

1

หลักการความร่วมมือ : เน้นการบูรณาการความร่วมมือภายใต้บทบาท ภารกิจ และ ความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่วมกันกำหนดทิศทาง เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเศรษฐกิจ ร่วมกันจัดทำแผนบูรณาการ (เน้นใช้แผนบูรณาการเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน) และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกัน ร่วมดำเนินการตามแผนบูรณาการ และร่วมติดตามและประเมินผล

2

กระบวนการดำเนินงาน : โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและบูรณาการตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 ให้มีการจัดประชุมเพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมาย ตัวชี้วัด และจัดทำแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการตามแผนบูรณาการ มีการจัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า แลกเปลี่ยนข้อมูล สะท้อนปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงมีการประเมินผล และมีรายงานผลให้ฝ่ายนโยบายทราบเป็นระยะ

YouTube Line search download
Q&A FAQ