“ป.ป.ส.” จับมือสื่อฯ เสวนา “ยาเสพติด”

เมื่อวันที่ : 5 ต.ค. 2016 18:00
หน่วยงาน : สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด
10 ครั้ง
“ปัญหายาเสพติด” เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ นำความหายนะมาสู่สังคม และรุกลามไปทั่วทุกหนแห่งของประเทศไทย...การแพร่ระบาดของ “ยาเสพติด” ขณะนี้ได้ขยายตัวอย่างรุนแรงไปทั่วทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัดทำให้ “รัฐบาล” ยุคนี้ตื่นตัว ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไข้ป้องกันและปราบปรามให้ครบสมบูรณ์แบบให้ออกมาเป็นรูปธรรม...!?? 
 
 
ขณะที่ “พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ได้เล็งเห็นว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย...จึงได้มีคำสั่งจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 3 คณะ เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางใหม่อย่างมีระบบ ได้แก่ คณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและจัดระบบการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร...!??
 
 
และในวันที่ 27 ก.ย.59 ที่ผ่านมา “สำนักงาน ป.ป.ส.” จึงได้จัดการประชุมเสวนาแนวนโยบาย ยาเสพติดตามแนวทางประชารัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในปีงบประมาณ 2560 โดยมี “นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามี 
 
 
“น.พ.จิโรจ สินธวานนท์” ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและจัดระบบการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และ “นายวิทยา สุริยะวงศ์” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร พร้อมด้วย “นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย” เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะ รวมถึงผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. เข้าร่วมการประชุมพร้อมคณะผู้บริหารสื่อมวลชน บรรณาธิการ หัวหน้าฝ่ายข่าว และสื่อมวลชนทุกแขนง...!?? 
 
 
วันนั้น “ปลัดกระทรวงยุติธรรม” เป็นประธาน ได้ทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชนใน 2 ประเด็น คือ-การปรับปรุงกฎหมาย ตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยรวบรวมกฎหมายยาเสพติด 7 ฉบับมาเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยมีสาระสำคัญ คือ ภาคความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด : จะมีการปรับปรุงระบบกำหนดโทษ โดยแยกผู้เสพ แรงงานขนยาฯ ออกจากนักค้าอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักค้ารายใหญ่ มีโทษสูงสุดประหารชีวิต กลุ่มแรงงาน และกลุ่มเหยื่อ สำหรับการปรับปรุงฐานความผิดและบทลงโทษให้ยกเลิกระบบนับเม็ดและปริมาณสารบริสุทธิ์ แต่นำระดับของการกระทำความผิดโดยใช้พฤติการณ์และความร้ายแรงเป็นเครื่องกำหนดโทษ ภาคการบำบัดรักษา : การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและมาตรการอื่นแทนการลงโทษ เน้นการสมัครใจเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู โดยให้ศูนย์คัดกรองทำการตรวจประวัติและคัดแยกเพื่อส่งบำบัดในสถานที่ที่เหมาะสม...!?? 
 
 
การดำเนินการปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับพืชเสพติดและตัวยาเสพติดรวม 4 ชนิด คือ กัญชง กัญชา กระท่อม และเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า เพื่อให้มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์อย่างเหมาะสม โดยอยู่ในการควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้จะมีการดำเนินการกับกัญชงและกระท่อมเป็นลำดับแรก...!!! ซึ่ง “นโยบายยาเสพติด” ที่จะออกมาใหม่ ไม่ได้ปล่อยให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่เป็นการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสม...!?? 
 
 
ขณะที่ “น.พ.จิโรจ” ได้ทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชน โดยให้แนวนโยบายการบำบัดฟื้นฟู ภายใต้แนวคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ต้องได้รับการดูแล และบำบัดฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นภารกิจสำคัญในการเข้ามา มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 
 
 
และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ “วันที่ 1 ตุลาคม 2559” ที่ผ่านมาโดยจะเข้ามารองรับการดำเนินงานในแต่ละจุด แต่ละระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป และในปีงบประมาณ 2560 จะรับผิดชอบกำกับการดำเนินงานบำบัดรักษาฟื้นฟูได้ครบทุกระบบทั่วประเทศ...เบื้องต้น “กระทรวงสาธารณสุข” จะกำหนดให้สถานพยาบาลซึ่งมีอยู่ 896 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์คัดกรองและส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดอย่างเหมาะสม...!??
 
 
โดย ดำเนินการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดเป็น 3 ระดับ คือ ผู้ใช้ : เสพครั้งคราว ผู้เสพ : ใช้สม่ำเสมอขึ้น และ ผู้ติด : ใช้ในปริมาณมากและหยุดเสพไม่ได้ และเมื่อผ่านการบำบัดรักษาแล้ว ทางรัฐบาลจะจัดให้ความช่วยเหลือ ทั้งให้การศึกษาต่อ ให้การฝึกทักษะอาชีพ การจัดหางาน และเงินทุนประกอบอาชีพ ให้ผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข...!??
 
 
 ส่วนคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร ที่มี “นายวิทยา สุริยะวงศ์” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชนในประเด็นแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด โดยขอความร่วมมือผ่านสื่อมวลชนในการร่วมรณรงค์ป้องกันและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด
 
 
 เชิญชวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ให้ออกมาแสดงตัวและเข้ารับการบำบัด พร้อมทั้งเผยแพร่แนวทางในการบำบัดรักษายาเสพติดให้ประชาชนได้รับทราบ ตลอดจนทำความเข้าใจกับนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งกระบวนการบำบัดฟื้นฟู การปรับกฎหมาย ให้เกิดความสมดุลและยุติธรรม เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่สื่อไปยังประชาชนมีความชัดเจนและถูกต้อง...!??
 
 
ขณะที่ “นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวทางใหม่ของรัฐบาลและสำนักงาน ป.ป.ส. ทั้งการดำเนินนโยบายตามแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง และปรับแนวทางจากการทำสงครามกับยาเสพติดไปสู่การใช้ระบบสาธารณสุขและการแพทย์เป็นหลักในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
 
 
 นับว่าเป็นสิ่งที่ดี...เป็นอีกแนวทางหนึ่งของ “รัฐบาล”ในการแก้ปัญหายานรกกับ “แผนประชารัฐร่วมใจ สร้างชุมชนมั่นคง ปลอดภัย...หากทำได้จริง ก็เหมือนเป็นการทำสังคมเมืองไทยให้น่าอยู่...แบบสิ้นไร้ยาเสพติด !?? 

ที่มา http://www.banmuang.co.th/news/crime/64090

YouTube Line search download
Q&A FAQ