ยธ.ถกพืชเสพติด กัญชง กัญชา กระท่อม ใช้การแพทย์ได้หรือไม่

เมื่อวันที่ : 5 ต.ค. 2016 17:59
หน่วยงาน : สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด
11 ครั้ง

ยธ.ถกพืชเสพติด กัญชง กัญชา กระท่อม ใช้การแพทย์ได้หรือไม่

 
โดย ทีมข่าวอาชญากรรม   
 


 

 
 
ยธ.ถกพืชเสพติด กัญชง กัญชา กระท่อม ใช้การแพทย์ได้หรือไม่

MGR Online - ยธ.นัดถกกฎหมายยาเสพติดเพิ่ม 7 ฉบับ โดยพืชเสพติด กัญชง กัญชา กระท่อม เพื่อจะนำมาใช้ในทางการแพทย์หรือไม่ แต่สำหรับผู้ค้าไม่ละเว้นโทษ 
       
       วันนี้ (27 ก.ย.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน พร้อมด้วย นพ.จิโรจ สินธวานนท์ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและจัดระบบการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด, นายวิทยา สุริยะวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร และนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. รวมทั้งคณะผู้บริหารสื่อมวลชน บรรณาธิการ และหัวหน้าฝ่ายข่าว เข้าร่วมประชุมเสวนาแนวนโยบายยาเสพติดตามแนวทางประชารัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในปีงบประมาณ 2560 เพื่อเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้าใจสื่อมวลชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางประชารัฐ
       
       นายชาญเชาวน์กล่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) มีคำสั่งจัดตั้งอนุกรรมการขึ้น 3 คณะ เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางใหม่อย่างมีระบบ โดยตนขอชี้แจงเรื่องการปรับปรุงกฎหมายแบบค่อยเป็นค่อยไปตามขั้นตอน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 7 ฉบับ โดยจะนำกฎหมายดังกล่าวมารวมกันเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด
       
       “สาระสำคัญ คือ ภาคความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งจะมีการปรับปรุงระบบกำหนดโทษกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนักค้ารายใหญ่ มีโทษสูงสุดประหารชีวิต 2. กลุ่มแรงงาน และ 3. กลุ่มเหยื่อ สำหรับการปรับปรุงฐานความผิดและบทลงโทษโดยให้ยกเลิกระบบนับเม็ดแต่นำระดับของการกระทำความผิดโดยใช้พฤติการณ์ บทบาทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ความร้ายแรงของการกระทำความผิด และปริมาณยาเสพติด เป็นเครื่องกำหนดโทษ รวมทั้งมีแนวความคิดเพิ่มดุลพินิจให้ศาลด้วยเพราะที่ผ่านมาศาลต้องตัดสินพิพากษาลงโทษในคดียาเสพติดตามที่กฎหมายกำหนดโทษเอาไว้ ส่วนภาคการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้เน้นการสมัครใจเข้ารับการบำบัด โดยให้ศูนย์คัดกรองทำการตรวจประวัติและคัดแยกเพื่อส่งบำบัดในสถานที่ที่เหมาะสม” นายชาญเชาวน์กล่าว
       
       นายชาญเชาวน์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยนำนโยบายทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของโลกมาปรับใช้ โดยจำแนกและจัดนโยบายที่เหมาะสมของตัวยาเสพติดแต่ละชนิด ไม่เหมารวมเหมือนกันทั้งหมด ดำเนินการปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับพืชเสพติดและตัวยาเสพติดรวม 4 ชนิด คือ กัญชง กัญชา กระท่อม และเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า เพื่อให้มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์อย่างเหมาะสม โดยอยู่ในการควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้จะมีการดำเนินการกับกัญชงและกระท่อมเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือไม่ได้ปล่อยให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่เป็นการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสม
       
       ด้าน นพ.จิโรจเปิดเผยว่า ต้องศึกษาให้รอบด้านเพราะยาเสพติดไม่ได้มีความผิดด้วยตัวมันเอง แต่เกิดจากคนไปกำหนดความผิดให้ยาเสพติด ซึ่งการปรับปรุงต้องสามารถปรับได้อีกเพราะสารเสพติดมีเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันมีความวิตกกังวลเรื่องนำยารักษาโรคบางชนิดไปใช้เกินขนาดทำให้กลายเป็นยาเสพติด โดยแนวนโยบายการบำบัดฟื้นฟู ภายใต้แนวคิด “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ต้องได้รับการดูแลและบำบัดฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพมาตรฐานซึ่งต้องมีการคัดกรอง เนื่องจากปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน เราจึงต้องมีการแยกฐานความผิดออกจากกัน
       
       “กระทรวงสาธารณสุขได้แยกเป็น 3 ระดับ คือ 1. ผู้ใช้ ซึ่งเป็นผู้เสพยาเสพติดแบบครั้งคราว เช่น ใช้ในงานปาร์ตี้เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับตัวเอง อาจจะใช้ 3-6 เดือนต่อครั้ง 2. ผู้เสพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลกระทบการงาน หรือผู้คน และ 3. ผู้ติด เป็นกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดเพิ่มจำนวนขึ้น ไม่สามารถหยุดใช้ยาเสพติดได้ โดยต้องใช้เป็นประจำ และมีผลกระทบทางชีวิตประจำวันและต่อจิตและประสาท โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 59 นี้ โดยจะรับผิดชอบงานบำบัดรักษาฟื้นฟูในสถานพยาบาล 896 แห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์คัดกรองและส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดอย่างเหมาะสม และเมื่อผ่านการบำบัดรักษาแล้วทางรัฐบาลจัดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผ่านการบำบัดรักษา ทั้งให้การศึกษาต่อ ฝึกทักษะอาชีพ จัดหางาน และเงินทุนประกอบอาชีพ” นพ.จิโรจกล่าว 
ที่มา http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9590000097334​

YouTube Line search download
Q&A FAQ