กสอ.ผุดไอเดียนำเทคโนโลยีอิตาลีพัฒนาเส้นใยกัญชง-สับปะรด พัฒนาแฟชั่นไทย ​

เมื่อวันที่ : 26 ต.ค. 2016 17:56
หน่วยงาน : สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด
12 ครั้ง
นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและรักษาการผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

        สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอต่อยอดงานวิจัยเส้นใยจากสับปะรดและเส้นใยกัญชง ดึงเทคโนโลยีอิตาลีพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เน้นประโยชน์ใช้สอย ตั้งเป้า 2 ปีส่งสินค้าแฟชั่นสู่ตลาดโลก
       
       นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและรักษาการผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สถาบันฯ มีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อยอดนำงานวิจัยผลิตภัณฑ์สิ่งทอต้นแบบ 2 ตัวแรก คือ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสินค้าแฟชั่นจากเส้นใยจากสับปะรดและเส้นใยกัญชง (Hemp) ด้วยเทคโนโลยีจากอิตาลีไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในลักษณะฟังก์ชันนัลเท็กซ์ไทล์ที่มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น โดยตั้งเป้าจะทำให้ได้ภายใน 2-3 ปี ผ่านกลไกประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศและมหาวิทยาลัยราชภัฏ และการสนับสนุนจาก Industrial Tranfromation Center ที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกไปสู่เชิงพาณิชย์ ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้สินค้าแฟชั่นที่มีดีไซน์เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมแฟชั่นจากอิตาลีที่ทราบแนวโน้มแฟชั่นโลกมาช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย
       
       สำหรับผลงานของสถาบันฯ ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วย เส้นใยจากริมไหม เส้นใยกัญชง เส้นใยสับปะรด เส้นใยจากก้านกล้วย เส้นใยผักตบชวา และเส้นใยสับปะรดแบบใยยาว ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผลงานวิจัยรวม 10 ผลงาน และพัฒนาบุคลากรในอตุสาหกรรมสิ่งทอ 1,000 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบตั้งแต่เส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้า กระเป๋า เคหะสิ่งทอ รวมกว่า 100 รายการ นอกจากนี้ ยังพัฒนาต่อยอดไปอีกระดับสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง สอดรับกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม
       
       ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้ากลุ่มแฟชั่นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการเข้ามาซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละประมาณ 700,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเผชิญกับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพราะต้องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในการส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการลดลง โดยจำนวนโรงงานลดลงจากที่มีรวม 5,000 โรงงานในปีที่ผ่านมาเหลือประมาณ 4,000 โรงงานในปีนี้ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำผลิตเส้นใย 12 โรงงาน โรงงานอุตสาหกรรมกลางน้ำ 1,822 โรงงาน และโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ 2,200 โรงงาน 

YouTube Line search download
Q&A FAQ