ชี้แพทย์ไทยควรหนุนใช้สารสกัดจากกัญชารักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย

เมื่อวันที่ : 23 ธ.ค. 2016 17:23
หน่วยงาน : สถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด
14 ครั้ง

ชี้แพทย์ไทยควรหนุนใช้สารสกัดจากกัญชารักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย

‘ศ.แสวง’ ชี้อนาคต การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะสำคัญมากในสังคมไทย จำเป็นต้องมีหลักสูตรเฉพาะ และต้องมีศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบกึ่งบ้านกึ่ง รพ.เผยแพทย์ พยาบาลอย่ากังวลว่าการใช้มอร์ฟีนระงับปวดให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะเสี่ยงต่อกฎหมายยาเสพติด พร้อมแนะแพทย์ พยาบาลสนับสนุนให้ไทยสามารถใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อเป็นยาบรรเทาการเจ็บปวดให้คนไข้ได้แล้ว ต่างประเทศก็ใช้รักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิลาส

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิลาส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีการบังคับใช้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ว่าด้วยการที่บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ว่า มาตรานี้ใช้เฉพาะการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต (End of Life) เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการการุณยฆาต และในกรณีการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ ที่สามารถช่วยชีวิตให้รอดได้ แพทย์จะต้องพยายามช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

ส่วนเรื่องการใส่ท่อช่วยหายใจ ที่มีความเข้าใจผิดอยู่บ้างว่าไม่ควรทำเพราะทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดมากขึ้นนั้น ศ.แสวง กล่าวว่า แพทย์ที่รักษาจะต้องอธิบายให้ญาติคนไข้เข้าใจว่าเป็นไปเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้ดีขึ้น และเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วย จึงเป็นสิ่งที่แพทย์จะต้องทำให้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน หากญาติ หรือคนไข้ไม่ต้องการให้ใส่ท่อช่วยหายใจ แพทย์ต้องเสนอทางเลือกในการรักษาให้ผู้ป่วยเลือกว่าจะใช้วิธีการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือใช้มอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด

ศ.แสวง กล่าวว่า ขอให้แพทย์ พยาบาลคลายความกังวลใจว่า การให้มอร์ฟีนในการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายนอกโรงพยาบาลนั้น ไม่เสี่ยงต่อการทำผิดตามกฎหมายยาเสพติด หากเป็นการจัดยาให้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และจัดให้ตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วย อย่างไรก็ตามแพทย์และพยาบาล ควรร่วมมือกันสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถใช้สารสกัดจากกัญชา ในฐานะยาเพื่อการบรรเทาอาการเจ็บปวดให้คนไข้ได้แล้ว เพราะในต่างประเทศก็อนุญาตให้ใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 “ในอนาคตการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจำเป็นจะต้องมีหลักสูตรเฉพาะเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมี รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์ นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินงานเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง และในอนาคตจะต้องมีศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบกึ่งบ้าน กึ่งโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการการดึงผู้ป่วยอออกจากห้องไอซียูไปรับการรักษาในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ขณะนี้หลายโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลศิริราช มีแผนจะก่อสร้างที่แถบบางใหญ่ ส่วนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จะก่อสร้างที่แถบรังสิตแล้ว” ศ.แสวง กล่าว

ที่มา https://www.hfocus.org/content/2015/09/10836


 
YouTube Line search download
Q&A FAQ