สตูล - จังหวัดสตูล เรียกระดมสมองนักวิชาการ และภาคประชาชนร่วม 70 ชีวิต ตกผลึกแนวทางแก้ปัญหาทุกมิติเกี่ยวกับ “พืชกระท่อม” หวังแก้เชิงนโยบาย ปฏิรูปแนวทางการปฏิบัติต่อพืชกระท่อมในประเทศไทย วันนี้ (31 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สนง.ป.ป.ส.) เปิดเวทีสัมมนาเชิงวิชาการ การปฏิรูปแนวทางการปฏิบัติต่อพืชกระท่อมในประเทศไทย โดยเชิญนักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ และภาคใต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้นำ ผู้แทนภาคปกครอง การบังคับใช้กฎหมายทั้งระดับส่วนกลาง จังหวัด และส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สนง.ป.ป.ส.ภ.8 และ 9 ทั้งใน และนอกสังกัด สนง.ป.ป.ส. รวมถึงกลุ่มประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องต่อพืชกระท่อมในมิติต่างๆ และคณะผู้จัดการ สพส.รวม 70 คน ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. 2559 ที่ห้องอภัยนุราช 2 โรงแรมสินเกียรติบุรี อ.เมือง จ.สตูล เพื่อรวบรวมข้อมูลวิชาการในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อสถานการณ์พืชกระท่อมทั้งในอดีต และปัจจุบัน ให้หน่วยงานทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนร่วมกันในการกำหนดแนวทางเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์พืชกระท่อมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องต่อสถานการณ์พืชกระท่อมในปัจจุบัน พร้อมทั้งหาแนวทางการจัดทำพื้นที่ศักยภาพการปลูกพืชกระท่อม เพื่อการควบคุมพืชกระท่อมในอนาคต โดยทาง ป.ป.ส.จะรับข้อมูลมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมในมิติต่างๆ ซึ่งสามารถนำมากำหนดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อกำหนด ปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ บทลงโทษที่ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมของประเทศต่อไป อีกทั้งทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และสัมพันธภาพอันดีระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส.กับหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการหาทางออก และการควบคุม แก้ไขปัญหาพืชกระท่อมอย่างเหมาะสม และสอดคล้องต่อบริบทวิถีชีวิตของชุมชน และการดำเนินการของภาครัฐต่อไป
นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ สนง.ป.ป.ส. กล่าวหลังเดินทางมาเปิดการสัมมนาในครั้งนี้ว่า ในเรื่องของปัญหาพืชใบกระท่อมก็เป็นความรุนแรงที่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มีความคุ้นเคยต่อพืชกระท่อมก็เดือดร้อน ก็มีการเสนอความเห็นต่างๆ เข้ามาว่า จะดูแลปัญหานี้อย่างไร เพราะว่าไปกระทบต่อชีวิตประจำวันของเขา แต่อย่างไรก็ตาม ตัวกระท่อมเองมันก็มีปัญหาด้วยตัวของมันเอง แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดเป็นผลกระทบมันเป็นผลกระทบในทางลบที่เป็นมุมกว้าง โดยเฉพาะเยาวชนที่หลงผิดเอากระท่อมไปต้ม แล้วผสมกับวัตถุกล่อมประสาทตัวอื่นซึ่งอันตรายกว่า การที่จะพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องของต้นกระท่อมต้องละเอียดอ่อน แล้วก็มองให้ชัดเจนในแต่ละกลุ่ม เพราะว่ามันจะมีทั้งผู้ที่คุ้นเคยต่อกระท่อม โดยที่ใช้แล้วไม่ได้ไปส่งผลต่อคนอื่น หรือคนรอบข้างเลย เป็นวัฒนธรรมใช้อยู่ที่บ้านเงียบๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ใช้แล้วเป็นกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มเยาวชนที่เราต้องดูแลเขาเพราะเขาจะต้องโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาใช้สี่คูณร้อย เราจะไม่พูดว่าเป็นกระท่อม ต้องพูดว่าเป็น สี่คูณร้อย เพราะในนั้นมีส่วนผสมที่เยอะมากและสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเขาจริงๆ คือ วัตถุอื่นที่ผสมเข้าไป ไม่ใช่ตัวกระท่อม ตรงนี้ถ้าเขาใช้ไปเรื่อยๆ อาการทางประสาทก็จะเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีสภาวะทางจิตใจที่ไม่สมบูรณ์ ก็จะเสียทรัพยากรบุคคลไป ก่อนอื่นต้องเรียนประชาชนทางภาคใต้ก่อนว่า ที่จริงแล้วกระท่อมถ้าเราปล่อยเกินไปมันอาจจะทำให้เกิดผลกระทบในเชิงกว้าง โดยเฉพาะต่อกลุ่มเยาวชน ประเด็นก็คือ จะทำยังไงที่จะดูแลกลุ่มเยาวชนของเราไม่ให้หลงผิดเข้าไปใช้สิ่งเสพติด แล้วก็อย่าไปใช้กระท่อม การใช้เป็นวัฒนธรรมเป็นประเด็นย่อยก็คิดว่าตรงนั้นต้องหาแนวทางแก้ไขกัน แต่ประเด็นหลักคงต้องมองภาพรวมว่า ทำอย่างไรให้คนของเรา ลูกหลานของเราโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพโดยไม่ใช้ยาเสพติด